FAMZ

สินส่วนตัว - สินสมรส “ทรัพย์สิน” ที่ต้องวางแผนให้รอบคอบ

20/06/2024

 

 

เมื่อความรักกำลังสุกงอม เราอาจมองข้ามและไม่เห็นความสำคัญของการเตรียมพร้อม เพื่อรับมือกับความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการจัดการทรัพย์สิน จากที่ตอนแต่งงานเป็นเรื่องของคนสองคนรักกัน

 

แต่ถ้าเป็นเรื่องทรัพย์สินเงินทองที่ยิ่งมูลค่าหรือจำนวนทรัพย์สินมากขึ้นเท่าไหร่

จำนวนคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องนั้นก็มากยิ่งขึ้นเท่านั้น

 

ดังนั้น คู่ชีวิตจึงควรวางแผนจัดการทรัพย์สินไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อเตรียมพร้อมจัดการทรัพย์สิน หรือมีข้อตกลงร่วมกันไว้ตั้งแต่ตอนที่ยังรักใคร่กันดี พูดคุยกันได้ เพราะหากวันใดเกิดความบาดหมางขึ้น ซึ่งเป็นอนาคตที่ไม่อาจคาดเดาได้ ก็อาจจะทำให้คู่รักกลายเป็นคู่ร้าง การหันหน้ามาพูดคุยและจัดการเรื่องต่าง ๆ ก็คงไม่ง่าย        

 

เมื่อคน 2 คน ตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกัน ก่อนอื่นควรทราบข้อกฎหมายเบื้องต้นว่า ทรัพย์สินส่วนไหนเป็น “สินส่วนตัว” หรือ “สินสมรส” ซึ่งจะทำให้สามารถวางแผนการจัดการทรัพย์สินทั้งสองประเภทได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถบริหารจัดการทรัพย์สินครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ดังนั้น หากเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างทรัพย์สินและผลของการจดทะเบียนสมรสแล้วจะสามารถวางแผนในการรักษาทรัพย์สินควบคู่ไปกับการมีชีวิตคู่ที่ราบรื่นได้เช่นกันในทางกฎหมาย ทรัพย์สินต่าง ๆ ของคู่สมรส จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน  ซึ่ง สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ได้ระบุไว้ ดังนี้ 

 

สินส่วนตัว: เป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสต่างฝ่ายต่างจัดการได้เองเลย

  • ทรัพย์สินที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนจะสมรส – ต้องมีกรรมสิทธิ์ก่อนการสมรสจึงจะเป็นสินส่วนตัวฃ
  • ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งตัว หรือเครื่องประดับตามฐานะ เช่น สร้อยคอ นาฬิกา ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า ฟันปลอม ฯลฯ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ เช่น จอบ เสียม เครื่องจักรที่ใช้ในการประกอบอาชีพ ฯลฯ
  • ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาในระหว่างสมรส* โดยการรับมรดก (ไม่ว่าจะรับมรดกตามกฎหมายหรือตามพินัยกรรม) หรือการให้โดยเสน่หา
  • ของหมั้น – เป็นสินส่วนตัวของภรรยาเท่านั้น
  • ของแทนสินส่วนตัว – ทรัพย์หรือเงินที่ได้มาจาการเอาสินส่วนตัวไปแลกหรือขาย

 

สินสมรส : สามี-ภรรยา ต้องจัดการสินสมรสร่วมกัน หรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่าย

  • ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาในระหว่างสมรส* – ทรัพย์สินทั้งหมดที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำมาหาได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าอีกฝ่ายจะมีส่วนร่วมในการทำมาหาได้หรือไม่ เช่น เงินเดือน เงินบำนาญ ค่าชดเชยต่างๆ ฯลฯ
  • ทรัพย์สินที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาในระหว่างสมรส* โดยพินัยกรรม หรือการให้เป็นหนังสือ ซึ่งพินัยกรรมหรือหนังสือให้ได้ระบุว่าทรัพย์สินนั้นเป็นสินสมรส
  • ทรัพย์สินที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว – ดอกผลของสินส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นดอกผลธรรมดาหรือดอกผลนิตินัย ถือเป็นสินสมรสทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาในระหว่างสมรส* – ทรัพย์สินทั้งหมดที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำมาหาได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าอีกฝ่ายจะมีส่วนร่วมในการทำมาหาได้หรือไม่ เช่น เงินเดือน เงินบำนาญ ค่าชดเชยต่างๆ ฯลฯ

 

ศัพท์กฎหมาย

  • ในระหว่างสมรส : นับตั้งแต่เวลาที่มีการจดทะเบียนสมรสกัน จนกว่าจะมีการเพิกถอนการจดทะเบียนหรือจดทะเบียนหย่าร้าง
  • ดอกผลธรรมดา : สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของทรัพย์ หรือที่ได้มาจากตัวทรัพย์ เช่น ลูกวัวเป็นดอกผลธรรมดาของแม่วัว
  • ดอกผลนิตินัย : ทรัพย์หรือประโยชน์ที่เจ้าของทรัพย์ได้มาจากคนอื่นเนื่องจากการใช้ทรัพย์นั้น เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าเช่าบ้าน

(ที่มา : ประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ มาตรา 1471, 1472, 1473, 1474, 1476)

 

ทั้งนี้ หากคู่สมรสเข้าใจแล้วว่า ทรัพย์สินประเภทใดเป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรส หากการสมรสสิ้นสุดลง ในด้านทรัพย์สินก็น่าจะไม่เกิดปัญหา ดังนั้น สิ่งที่คู่สามีภรรยาต้องพึงระวังในการจัดการทรัพย์สินระหว่างกัน ได้แก่

  • การใช้ทรัพย์สินส่วนตัวในการทำธุรกิจร่วมกันเป็นเวลานาน เมื่อถึงเวลาต้องเปลี่ยนผ่าน อาจเกิดความสับสนจนทำให้ทรัพย์สินส่วนตัวกับทรัพย์สินธุรกิจกลืนกันไปในที่สุด
  • การไม่ได้ระบุรายการทรัพย์สินส่วนตัวของแต่ละฝ่ายเอาไว้ก่อนสมรสไว้ ทำให้การตกลงแบ่งสินสมรสหลังหย่าทำได้ยาก หรือทำไม่ได้เลยจนต้องพึ่งกระบวนการทางศาล เพิ่มความบาดหมางระหว่างกันมากขึ้น
  • การทำสัญญาก่อนสมรสต้องทำก่อนจดทะเบียนสมรส (Prenuptial Agreement)  มิเช่นนั้น จะกลายเป็นสัญญาระหว่างสมรสที่บอกเลิกได้ระหว่างสมรสหรือภายใน 1 ปีหลังหย่า รวมทั้งต้องทำให้ถูกหลักเกณฑ์และมีข้อตกลงที่ไม่ขัดกับกฎหมาย
  • แม้ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ทรัพย์สินที่เกิดขึ้นระหว่างอยู่กินฉันสามีภรรยาก็ถือเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมของทั้งสองฝ่าย ดังนั้น การไม่จดทะเบียนสมรสจึงอาจไม่ใช่ทางออกอย่างที่หลายคนเข้าใจกัน ดังนั้น เพื่อให้ไม่เกิดปัญหาตามมาเมื่อการสมรสสิ้นสุดลง

 

ทั้งนี้ KBank Private Banking ธนาคารกสิกรไทย ให้คำแนะนำสำหรับการวางแผนของคู่สมรส  ดังนี้

1. ศึกษากฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินและผลของการสมรส ทำความเข้าใจให้ตรงกันว่าทรัพย์สินใดเป็นสินส่วนตัว สินสมรส หรือเป็นทรัพย์สินที่ถือร่วมกันเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ ทำทะเบียนทรัพย์สินและระบุรายละเอียดการได้มา และควรแจ้งให้บุคคลที่ 3 ที่เชื่อถือได้/หุ้นส่วนธุรกิจรับทราบตรงกัน

2. แบ่งแยกการถือครองสินส่วนตัวให้ชัดเจน เช่น ไม่ใส่ชื่ออีกฝ่ายเป็นเจ้าของร่วมในสินส่วนตัวของตน เพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยากในการทำธุรกรรมภายหลัง หรือหากต้องการให้อีกฝ่ายบริหารจัดการให้ ก็ควรมีเอกสารชี้แจงชัดเจo

3.   ทำสัญญาก่อนสมรส เพื่อระบุสินส่วนตัวของแต่ละฝ่ายและแนวทางจัดการทรัพย์สินระหว่างกันให้ชัดเจน หากข้อตกลงมีความซับซ้อน เช่น มีหนี้จากการทำงานร่วมกัน หรือมีทรัพย์สินของครอบครัวแต่ละฝ่ายร่วมด้วย ควรปรึกษาทนายเพื่อให้มั่นใจว่าสัญญาก่อนสมรสเป็นไปตามหลักเกณฑ์และบังคับใช้ได้

4. ใช้เครื่องมืออื่นๆ เข้ามาจัดการทรัพย์สินแต่ละประเภท เช่น การใช้ทรัสต์ช่วยบริหารทรัพย์สินครอบครัว การทำพินัยกรรมส่งต่อสินส่วนตัว หรือการใช้ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตเพื่อส่งต่อสภาพคล่องให้ทายาทโดยตรง เป็นต้น

 

การจัดการทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาเป็นเรื่องละเอียดอ่อนสำหรับหลายๆ ครอบครัว และไม่ใช่เรื่องระหว่างสองคนเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นที่ต้องคำนึงถึง เช่น ความแตกต่างของการจัดการทรัพย์สินของครอบครัวแต่ละฝ่าย ความราบรื่นของธุรกิจที่ทำร่วมกัน รวมไปจนถึงทรัพย์สินที่ต้องการจะส่งต่อให้ทายาท เป็นต้น

 

นอกจากนี้ การสิ้นสุดลงของการสมรส ไม่ได้เกิดจากการหย่าร้างเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเสียชีวิตของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งด้วย ดังนั้น สิ่งสำคัญเพื่อให้การจัดการทรัพย์สินระหว่างคู่สมรสเป็นไปอย่างราบรื่น คือ การวางแผนจัดการทรัพย์สินก่อนที่จะเกิดความขัดแย้ง โดยเริ่มจากการทำข้อตกลงร่วมกัน วางแผนการถือครอง และเลือกใช้เครื่องมือที่ตอบโจทย์

 

#ที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัว #บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัว 

#การประชุม #ธุรกิจครอบครัว  #สินส่วนตัว #สินสมรส #FAMZ 


ที่มา

related

ระวัง “หลุมดำ” ของ “พ่อแม่ลูก” กับ “การเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ”

25/10/2023

Read

รูปแบบธุรกิจครอบครัวในประเทศไทย 

16/09/2023

Read

4 ห้องหัวใจเชื่อม “ธุรกิจ + ครอบครัว” Go Pro!!

13/09/2023

Read

เมื่อ “ละครคุณธรรม” มาเต็มๆ “ธรรมนูญครอบครัว” ต้องเข้าแล้ว !?!

30/03/2025

Read